ความลับของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในการบรรเลงดนตรี
เป็นเรื่องของกลไกต่อไปนี้ครับ
- ความสัมพันธ์กันของตำแหน่งทางเวลา ของการคิดและรู้สึกในบางสิ่ง และการที่นิ้วหรือลม (หรืออุปกรณ์เบรรเลง) ที่จะถ่ายทอดน้ำหนักการสัมผัสสู่เครื่องดนตรีจะเกิดขึ้นในคาบเวลาไล่เลี่ยกัน
- น้ำหนักของการบรรเลง มาจากอวัยวะของผู้บรรเลงเองโดยตรง การถ่ายทอดน้ำหนักใด ๆ ในแต่ละคาบหรือตำแหน่งทางเวลาของแต่ละโน้ตนั้น มีความหนักเบา (ไดนามิค) ที่แตกต่างหรือเหมือนกัน คละไป, เหมือนโดยสมบูรณ์แบบกับการใช้มือหรือนิ้วสัมผัสตัวบุคคลอื่นที่มีความรักหรือความสัมพันธ์ต่อกัน เป็นการสัมผัสให้อีกฝ่ายรู้สึกและรับความหมายของการสัมผัสได้
- ซึ่งอีกฝ่ายในที่นี้คือ "เครื่องดนตรี" ซึ่งรับสัมผัสแล้วเกิดเสียง การบรรเลงดนตรีคนเดียวให้ตัวเองฟังจึงประโลมจิตใจของศิลปินหรือนักดนตรีผู้บรรเลงได้ ไม่ต่างกับการได้โอภาปราศัย ไต่ถามความสุขความทุกข์ กับตัวเอง, และเมื่อการบรรเลงนั้นมีซึ่ง "ผู้ฟังอื่น" ผู้ฟังก็ย่อมได้รับสัมผัสคลื่นเสียงนั้น ได้รับทราบทั้งอารมณ์และความรู้สึกนั้นไปด้วย
- กลไกทั้งหมดนี้ จะพบได้ว่า แม้ในกรณีที่ผู้บรรเลง ทำการบรรเลงไปตามความรู้สึกตนโดยสูญเสียความสม่ำเสมอทางจังหวะ หรือการ ad-lib หรือ improvisation ในบางครั้งนั้น คลื่นเสียงที่ออกมาก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก และผู้ฟังสัมผัสได้
- เวลาบรรเลงก็คือ ..เพราะรู้สึกอย่างนั้น..อย่างโน้น..อย่างนี้..ต่อเรื่องนี้อยู่ ..เพราะคิดแบบนี้อยู่ นิ้วและมือจึงถ่ายทอดโน้ตที่สัมพันธ์และมองเห็นทางความคิดตัวนั้น..ตัวโน้น..ตัวนี้..ออกมา มีประธาน กิริยา กรรม บุพบท วิเศษณ์ นัยยะ ความหมาย ฯลฯ ..สุดแต่จะพรรณา
ทั้งหมดนี้สร้างความ "สมบูรณ์แบบ" ตามนิยาม "ดนตรี" ที่ควรจะเป็น อยู่ และคือ
การบรรเลงโดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ นั้นมีจริงได้ เราได้ยินกันทั่วไปไม่ยากนัก, แต่ในโลกของดนตรีแล้ว นับเพียงว่า.. "มันเป็นเสียง" แม้จะออกมาจากเครื่องดนตรี แม้จะสร้างตามทฤษฎีบทอย่างถูกต้อง
..แต่มันกระด้าง แตกต่าง และขาด "วิญญาณ" (ธาตุรู้)
..คือทำให้มันยังไม่เป็น ..ไม่อยู่ ..และไม่คือ .."ดนตรี".
Comments
Post a Comment
การแสดงความคิดเห็น ขอให้เคารพในสิทธิของบุคคลอื่น
และไม่ละเมิดพรบ.ICT ..เชิญครับ :)